บทความที่คล้ายกัน

ดูบทความทั้งหมด

บทความทางการแพทย์แผนไทย, บทความวิจัย, บทความทั่วไป ฯลฯ

ดูเพิ่มเติม
ภาพกิจกรรม

แกลลอรี่ภาพกิจกรรมของคณะทั้งหมด

ดูเพิ่มเติม
บทความ > หัตถการกักน้ำมันร้อน (Oil poultice) ทางการแพทย์แผนไทย

หัตถการกักน้ำมันร้อน (Oil poultice) ทางการแพทย์แผนไทย

3 พ.ค. 2567 03:00 PM
999

หัตถการกักน้ำมัน เป็นหัตถการหนึ่งที่นำมาใช้ในการรักษาอาการทางระบบกระดูกกล้ามเนื้อทางการแพทย์แผนไทย จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า การกักน้ำมัน มีรูปแบบดั้งเดิมมาจากการแพทย์อายุรเวทอินเดียที่ชื่อว่า Kati Vasti โดยการนำน้ำมันสมุนไพรอุ่นร้อน เทลงบนตำแหน่งที่ต้องการที่มีการกั้นขอบด้วยแป้งถั่วดำปั่น เพื่อกักหรือขังน้ำมันร้อนไว้บริเวณที่มีอาการ มีผลในการรักษาและบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง เนื่องจากความร้อนจากน้ำมันยาที่อุ่นมีผลต่อการคลายตัวของกล้ามเนื้อผ่านประสาทรับความรู้สึกส่วนปลายและกระตุ้นการขยายตัวของหลอดเลือด ทำให้ส่งเสริมการไหลเวียนเลือดของตำแหน่งที่มีอาการ อีกทั้งน้ำมันยาสามารถซึมเข้าสู่ชั้นผิวและเนื้อเยื่อบริเวณที่มีอาการโดยตรง ทำให้ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ ช่วยบรรเทาอาการปวด บวม อักเสบได้ มีการศึกษาก่อนหน้าเกี่ยวกับประสิทธิผลของการกักน้ำมันต่ออาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง พบว่า หลังการรักษาผู้ป่วยมีระดับความปวด และผลกระทบของอาการปวดหลังลดลง อีกทั้งส่งผลให้มีความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลังเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีการศึกษาผลของการกักน้ำมันต่อกลุ่มอาการอื่นๆ ได้แก่ นิ้วล็อก ข้อเข่าเสื่อม พบว่า การกักน้ำมันมีประสิทธิผลในการลดระดับความปวด และมีความปลอดภัยในการรักษา

สำหรับรูปแบบการทำหัตถการกักน้ำมันทางการแพทย์แผนไทย อาจมีความแตกต่างจากวิธีการเดิมของอายุเวทอินเดีย โดยเปลี่ยนจากการกั้นขอบด้วยแป้งถั่วดำ มาเป็นการใช้น้ำมันยาอุ่นร้อนเทลงบนแผ่นสำลีแล้วนำไปวางบนตำแหน่งที่มีอาการ โดยใช้น้ำมันงาเป็นตัวยาหลัก ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นของเหลวมัน ชุ่ม และช่วยในการหล่อลื่น สามารถซึมซาบเข้าสู่ร่างกายได้ ทำให้ช่วยลดอาการติดขัดในบริเวณที่มีปัญหา ซึ่งส่วนมากมักใช้กับกล้ามเนื้อที่ตึงมากๆ หรือปวดกล้ามเนื้อชั้นลึกๆ เช่น รองช้ำ หัวไหล่ติด ลมเสียดสะโพก ลมจับโปงแห้งเข่า ปวดตึงกล้ามเนื้อทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม จากแนวเวชปฏิบัติของการกักน้ำมันตามการแพทย์อายุรเวท ระบุว่า กลไกการรักษาของหัตถการนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำมันพื้นฐาน (Base oil) สมุนไพรที่นำมาเป็นตัวยา ปริมาณและอุณหภูมิของน้ำมัน รวมถึงระยะเวลาที่ความร้อนของน้ำมันสัมผัสผิว และระยะเวลาในการบำบัด

จากการศึกษาประสิทธิผลของการกักน้ำมันในผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดหลังส่วนล่าง โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า การกักน้ำมันสมุนไพรและการกักน้ำมันงา ระยะเวลา 30 นาทีต่อครั้ง จำนวน 5 วันติดต่อกัน สามารถลดระดับความปวดและผลกระทบของอาการปวดหลังส่วนล่างได้ไม่แตกต่างกัน อีกทั้งยังสามารถเพิ่มความยืดหยุ่น ปรับปรุงการทำงานของกล้ามเนื้อและข้อต่อ และมีความปลอดภัยในผู้ป่วย ทั้งนี้สามารถนำผลการศึกษานี้ไปเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้หัตถการ เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดหลังส่วนล่างทางการแพทย์แผนไทยต่อไป

โดยข้อควรระวังของหัตถการกักน้ำมัน ได้แก่ (อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์นวัตกรรมการแพทย์แผนไทย)

  1. ผู้ที่มีกำเดาสูง
  2. ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
  3. ผู้ที่มีอาการอัมพฤกษ์หรืออัมพาตที่ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด
  4. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  5. ผู้ที่ทนความร้อนไม่ได้หรือไวต่อความร้อนบริเวณผิวหนัง
  6. บริเวณผิวหนังอ่อน มีแผลเปิด หรือมีการอักเสบ
  7. ผู้ที่มีประวัติการแพ้สมุนไพร หรือน้ำมันสมุนไพร

หมายเหตุ ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอาการอักเสบ เนื่องจากเป็นหัตถการร้อน

“เป็นอย่างไรกันบางครับ กับข้อมูลที่ผมนำมาแชร์ในวันนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกคนนะครับ สามารถอ่านผลการศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ “การศึกษาประสิทธิผลของการกักนํ้ามันตรีผลธาตุในผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดหลังส่วนล่าง โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” (https://li01.tci-thaijo.org/index.php/journalup/article/view/260753/178226)

บทความโดย: พท.บดินทร์ ชาตะเวที นักวิทยาศาสตร์สุขภาพ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์