บทความที่คล้ายกัน
-
สมุนไพร คลายความร้อน สดชื่น ชื่นใจ
เภสัชกรรมไทย ·7 พ.ค. 2567
-
การเลือกใช้ยาสมุนไพร
เภสัชกรรมไทย ·16 ต.ค. 2561
-
ฟ้าทะลายโจร” กับอาการไอ
เภสัชกรรมไทย ·8 มิ.ย. 2561
-
ใช้สมุนไพรอย่างไรให้ปลอดภัย
เภสัชกรรมไทย ·28 ธ.ค. 2560
-
“ตรีผลา”กับการลดไขมัน (2)
เภสัชกรรมไทย ·31 พ.ค. 2560
โรคมะเร็งกับกัญชาทางการแพทย์
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายสำคัญในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยซึ่งมีแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตมากกว่า 70,000 ราย ความผิดปกติของสารเมแทบอไลต์และเนื้องอกที่เจริญเติบโตโดยตรงเข้าไปในเนื้อเยื่อข้างเคียง ก่อให้เกิดผลกระทบทางสรีรวิทยาและระบบการเผาผลาญพลังงานผู้ป่วยมะเร็งมักจะมีอาการปวดเรื้อรัง น้ำหนักลด และอาการนอนไม่หลับ การรักษาและดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงสุดท้ายของชีวิตและจากไปอย่างสงบถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งเนื่องจากจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดเพื่อบรรเทาอาการเหล่านั้น เช่นยากลุ่มโอปิออยด์ (opioids) ยากระตุ้นความอยากอาหาร และยานอนหลับ และอาจมีผลข้างเคียง เช่น อาการท้องผูกรุนแรง การพึ่งพายา และกดการหายใจและเสียชีวิต จากการใช้ยาโอปิออยด์เกินขนาดหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการค้นพบระบบ เอนโด-แคนนาบินอยด์ (endocannabinoid system; ECS) ที่รักษาความสมดุลและควบคุม การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย และอาจจะมีศักยภาพด้านการรักษาโรคมะเร็ง จากการศึกษาจำนวน มากในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ทำให้เกิดความสนใจของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ในการ นำสารสกัดจากกัญชามาใช้ประโยช์ในเรื่องดังกล่าว
สารสกัดจากกัญชารักษามะเร็งได้หรือไม่?
ในปี 2518 มีนักวิจัยกลุ่มแรก (Antineoplastic activity of cannabinoids., 1975. Munson AE, Harris LS, Friedman MA, Dewey WL, Carchman RA.) รายงานว่าสารสกัดจากกัญชาอาจยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งปอดและยับยั้งการเติบโตของเนื้องอกมะเร็งบางอย่างในหนูทดลองได้ หลังจากนั้น เมื่อมีการวิจัยเพิ่มขึ้น พบว่าสารสกัดจากกัญชาสามารถต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้จริง โดยการยับยั้งกระบวนการสร้างเส้นเลือดของก้อนมะเร็ง (Angiogenesis) และลดการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งไปยังส่วนอื่น ๆ (Metastasis) ในโรคมะเร็งหลายชนิด ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการสร้างโปรแกรมการตายของเซลล์มะเร็ง (Program cell death) ผ่านกระบวนการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ในปัจจุบันสารกลุ่มนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาทางคลินิก โดยพบว่าการให้สาร Cannabinoids ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด Temozolomide สามารถช่วยลดการเติบโตของเนื้องอกสมองได้ และมีการรายงานในลักษณะคล้ายกันจากอีกหลายงานวิจัยที่พบว่าการให้สารสังเคราะห์ในกลุ่ม Cannabinoids (เช่น HU-210) สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการต้านมะเร็งของยา Paclitaxelและยา 5-Fluorouracil
ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการได้รับเคมีบำบัด
สาร Nabilone และ Dronabinol เป็นสารสังเคราะห์ที่เป็นอนุพันธ์ของสาร THC มีผลการวิจัยทางคลินิกยืนยันว่า Nabilone มีประสิทธิภาพในการลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดได้ดี และได้รับการอนุมัติให้ใช้ในประเทศแคนาดา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา ส่วนสาร Dronabinol มีประสิทธิภาพลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ดี และได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายทั้งในประเทศอเมริกา (ปี พ.ศ. 2528) และในแคนาดา (ปี พ.ศ. 2538)
เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์
สาร THC ช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้ผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ เมื่อมีการทดลองใช้ทางคลินิกเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ และได้รับการอนุมัติให้ใช้สาร Dronabinol ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสาร THC เพื่อเพิ่มความอยากอาหารได้ในประเทศแคนาดาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้
ลดอาการปวด
สารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ THC ช่วยลดอาการปวดแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรังได้ (Acute และ Chronic pain) ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้เพิ่มขึ้น ยาในรูปแบบสเปรย์พ่นในปาก (Oromucosal spray, Nabiximols) โดยใช้ส่วนผสมร่วมระหว่าง THC และ CBD ช่วยลดอาการปวดข้อ (Rheumatoid arthritis) ได้ แต่สำหรับอาการปวดเรื้อรังในผู้ป่วยมะเร็งยังไม่มีข้อสรุปทางคลินิกที่ชัดเจน
อ้างอิง
ที่มา:สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
Narisa Kamkaen, Charoen Treesak .(2019). Medicinal Cannabis for Cancer .(Chulabhorn Royal Academy).(16-25)
บทความโดย
นายทวีศักดิ์ อารีกุล นักวิทยาศาสตร์สุขภาพ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์